ความหมายของคำใน"กศน."



สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งประกอบด้วยมาตรา ๒๕ มาตรา เป็นกฎหมายสำหรับให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงาน กศน.และภาคีเครือข่ายดำเนินการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับประชาชนให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคีเครือข่าย หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงาน กศน.จึงได้อธิบายศัพท์ ทฤษฎี หลักการ และวิชาการที่เกี่ยวข้อง ให้มีความชัดเจน ในการบอกความหมายของคำและแสดงตัวอย่างประกอบ จำนวน ๖๐ คำ ซึ่งในวันนี้นำมาเผยแพร่ให้ทราบ ๓ คำ ดังนี้ค่ะ
การศึกษานอกระบบ
หมายถึง การศึกษาที่จัดให้กับประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัด พื้นฐานการศึกษา อาชีพ ประสบการณ์หรือความสนใจ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้เรียนได้รับความรู้ด้านพื้นฐาน ทักษะในการประกอบอาชีพและทักษะที่จำเป็นสำหรับความรู้ด้านอื่นๆเป็นฐานในการดำรงชีวิต
การจัดการศึกษานอกระบบ มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของผู้เรียน
ตัวอย่าง เช่น การสอนหนังสือให้ผู้ไม่รู้หนังสือในวัยผู้ใหญ่ ให้อ่านออก เขียนได้และเข้าใจหน้าที่พลเมือง

การศึกษาตามอัธยาศัย
การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากประสบการณ์ การทำงาน บุคคล ครอบครัว สื่อมวลชน ชุมชน แหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูน ความรู้ ทักษะ ความบันเทิงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีการสอบ ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานศึกษาแน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต
ตัวอย่าง เช่น เด็กเรียนรู้ เกี่ยวกับ ภาษาและคำศัพท์ภาษาอังกฤษ จากรายการโทรทัศน์

การศึกษาตลอดชีวิต
เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย
เป็นการศึกษาที่พัฒนาคนให้ได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆตามความสามารถของตนเอง เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น