โรคเวียนศรีษะ

เวียนศีรษะ Dizziness
หลายท่านคงเคยเป็นโรคเวียนศีรษะ ผู้ป่วยมักจะมีชื่อเรียกต่างๆกันดังนี้ มึนศีรษะ งงศีรษะ บ้านหมุน หนักศีรษะ เป็นลม จะเห็นว่าเป็นปัญหาในการสื่อสารกับแพทย์เป็นอันมาก การที่จะวินิจฉัยโรคได้นั้นแพทย์จะต้องได้ประวัติที่ดี บทความนี้จะยกสาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่พบบ่อยเพื่อที่ท่านสามารถจะสื่อสารกับแพทย์ได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าภาวะนี้จะพบบ่อยแต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ร้ายแรง สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ จากหูชั้นใน และจากระบบความดันโลหิต
การวินิจฉัยของโรคเวียนศีรษะ
เมื่อท่านไปพบแพทย์ด้วยอาการเวียนศีรษะแพทย์จะถามหลายคำถามและท่านต้องตอบให้ตรงคำถามเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ลักษณะของอาการเวียนศีรษะ
อาการเวียนศีรษะเกิดเมื่อมีการเปลี่ยนท่าเช่นการหันหน้า นั่งไปนอน หรือจากนอนไปท่านั่งเป็นต้น
ความรุนแรงของอาการเวียนศีรษะ
สิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือไม่ ระยะเวลาที่เกิดอาการ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ปัจจัยที่ทำให้หาย
เป็นแต่ละครั้งนานแค่ไหน หลังจากเวียนศีรษะมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เป็นบ่อยแค่ไหน อาการที่เกิดร่วมกับอาการเวียนศีรษะ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยหรือไม่ มีอาการเครียดด้วยหรือไม่ มีอาการหน้ามืดเป็นลมหมดสติร่วมด้วยหรือไม่ มีเสียงดังในหูหรือไม่ มีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่

ท่านเป็นเวียนศีรษะประเภทไหน การจะวินิจฉัยและรักษาจะต้องทราบก่อนว่าอาการเวียนศีรษะที่ท่านเป็นอยู่เป็นชนิดไหน ซึ่งแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆได้ 4 ชนิด
อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน vertigo เป็นอาการที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน การเปลี่ยนท่า เช่นหันหน้าหรือการเปลี่ยนจากนอนเป็นนั่งจะทำให้เกิดอาการหมุน ผู้ป่วยมักจะนอนหลับตา หากลืมตาบ้านจะหมุนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน สาเหตุเกิดจากโรคของหูชั้นใน โรคที่เป็นสาเหตุได้แก่
Benign paroxysmal positional vertigo (BPPV) เมื่อท่านหันศีรษะหรือพลิกตัวจะทำให้ท่านเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดจากโรคหูชั้นใน
Vestibular neuronitis (labyrinthitis) เกิดจาการอักเสบของหูชั้นในจากเชื้อไวรัส
Meniere's disease เกิดจากน้ำเลี้ยงในหูชั้นในเพิ่มขึ้น
Acoustic neuroma เกิดจากเนื้องอกกดเส้นประสาท
Medications ยาหลายชนิดทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเช่น Aspirin, streptomycin, gentamicin, caffeine, alcohol และยาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ
อาการหน้ามืดเป็นลม Fainting มักเกิดขณะนั่งหรือนอนแล้วลุกขึ้นยืนผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นลม หน้ามืด มีอาการใจสั่น เหงื่อออก หน้าซีด ต้องนอนหรือนั่งจึงจะดีขึ้นที่สำคัญคือจะไม่หมดสติ บางรายมีคลื่นไส้ สาเหตุ
ความดันโลหิตต่ำ เมื่อท่านลุกขึ้นยืนเลือดจะไหลไปที่เท้าเนื่องจากแรงโน้มถ่วง ร่างกายจะปรับตัวโดยการบีบตัวของหลอดเลือดดำเพื่อให้เลือดกลับไปที่หัวใจเพิ่มนอกจากนั้นหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น การปรับตัวทั้งสองเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้อาจจะเกิดจากยาลดความดันโลหิต การเจ็บป่วยทำให้ได้รับน้ำไม่พอ ผู้ป่วยขาดน้ำอย่างรุนแรงเช่นท้องร่วงหรืออาเจียน หัวใจเต้นเร็วไปหรือช้าไป โรคของระบบประสาทอัตโนมัติเช่นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่นอนนานๆ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราวทำให้เกิดอาการหน้ามืด เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักศีรษะมึนๆ ผู้ป่วยรู้สึกมึนในศีรษะสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่
โรคหูชั้นใน โรคเครียด
เวียนศีรษะแบบเดินเซทรงตัวไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการทรงตัวไม่ได้เวลาเดิน โรคที่เป็นสาเหตุได้แก่
โรคหูชั้นใน โรคของระบบประสาท
ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมและกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำให้ทรงตัวลำบาก จากยา เช่นยานอนหลับ ยากันชัก

การตรวจวินิจฉัย
แสดงท่าตรวจให้นั่งแล้วนอนโดยหันศีรษะไปด้านซ้ายและด้านขวา
หลังจากที่แพทย์ทราบชนิดของเวียนศีรษะแพทย์จะตรวจหรือสั่งการตรวจเพิ่มเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ชนิดของเวียนศรีษะ
เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน
ตรวจระบบหู ตรวจตาว่ามีการกระตุก ตรวจการได้ยิน ตรวจจมูก คอ
เวียนศีรษะแบบหน้ามืดเป็นลม
ตรวจชีพขจร วัดความดัน ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจการทำงานของหัวใจ เช่น ultrasound หัวใจ
วัดความดันท่านอนและยืน
เวียนศีรษะแบบหนักๆศีรษะ
ตรวจทางจิตว่ามีความเครียดหรือไม่ อาจจะให้หายใจแรงๆดูว่ามีอาการหรือไม่
เวียนศีรษะแบบเดินเซ
ตรวจระบบการทรงตัวโดยการยืนหลับตา ตรวจระบบประสาท
อาการเวียนศีรษะที่ต้องปรึกษาแพทย์
เวียนศีรษะร่วมกับอาการหมดสติ ตามัว หูหนวก พูดลำบาก อ่อนแรงแขนขา ชาแขนขา เวียนศีรษะบ้านหมุน
เวียนศีรษะจนทำงานประจำไม่ได้ หากสงสัยว่าเกิดจากยาควรปรึกษาแพทย์ หากมีอาการมึนๆมากกว่า 3 สัปดาห์ มีอาการอื่นร่วมเช่น แน่นหน้าอก หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจจะเป็นอาการเตือนของเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
นอนพักจนอาการเริ่มดีขึ้น
อย่าเปลี่ยนท่าอย่างกระทันหัน
หันศีรษะช้าๆ
หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงเช่นเกลือ ยาบางชนิด
หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นเช่น ความเครียด ภูมิแพ้
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างเช่นการขับยานพาหนะ การปีนบันได
หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่ในยานพาหนะเพราะอาจจะทำให้เกิดเมารถ เมาเรือ
หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุน
ยาแก้เวียนศีรษะ เช่น meclizine, dimenhydrinate, promethazine, scopolamine, atropine or diazepam