พลังแห่งการพัฒนางานสู่ความเป็นเลิศ


พลังแห่งการพัฒนางานสู่ความเป็นเลิศ
          การจัดการศึกษาของชาติมีความมุ่งหมายเพื่อให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นคนดีมีความสามารถและมีความสุขเป็นพื้นฐานอันสำคัญของการพัฒนาและเป็นเครื่องมือชี้นำสังคมผู้ได้รับการศึกษาจึงเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศซึ่งสอดคล้องกับการปฎิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง รัฐบาลมุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีเป้าหมายหลัก ๓ประการคือพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาการเรียนรู้ของคนไทย  เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา
                 การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจและให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมซึ่งสอดคล้องกับหลักการพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕และพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้มีการจัดระบบโครงสร้าง กระบวนการบริหารจัดการให้มีเอกภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมอันจะก่อให้เกิดความคล่องตัว มีอิสระด้านการบริหารจัดการโดยเฉพาะการใช้โรงเรียนเป็นฐาน(School Based) เป็นหน่วยสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
                   ในปัจจุบันการปฎิบัติงานในสถานศึกษาเน้นให้สมาชิกเป็นส่วนหนึ่งของทีมและเป็นหน่วยขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาที่สำคัญเนื่องจากผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีภาระรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมสามารถจัดกิจกรรมทางการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องใช้ความรู้ ความสามารถทักษะและคุณลักษณะที่น่าเชื่อถือเพื่อส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บรรลุเป้าหมายซึ่งจำเป็นต้องใช้ความสามารถที่เหมาะสมสอดคล้องกับบทบาทที่ปฎิบัติประสบผลสำเร็จโดดเด่นกว่าผู้อื่นซึ่งเรียกว่าสมรรถนะ(Competency) นั่นเอง
การบริหารงานในสถานศึกษานิยมแบบราบมากกว่าเป็นแบบปิรามิดตลอดจนการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้บริหารและครูผู้สอนโดยยึดกิจกรรมที่ดำเนินการกับผู้เรียนเป็นสำคัญ จะสามารถช่วยให้การทำงานบังเกิดผลสำเร็จได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถของผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการคุณภาพและสนับสนุนการพัฒนาปรับปรุงสิ่งต่างๆอย่างต่อเนื่องหรืออาจกล่าวได้ว่าสมรรถนะนั้นเป็นอาวุธสำคัญที่มีอยู่ในตัวตนของผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพอันจะนำไปสู่ความสำเร็จได้แนวความคิดเรื่องสมรรถนะ(Competency) จึงเข้ามามีบทบาทและถูกนำมาใช้ในการจัดการสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเหตุเพราะการกำหนดสมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องกำหนดให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและเป้าหมายของหน่วยงานอีกทั้งยังนำหลักการ แนวคิด มาใช้ในกระบวนการด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในหลายมิติ (อาภร ภู่วิทยพันธุ์.๒๕๔๘:คำนำ) ผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความจำเป็นต้องใช้ความสามารถที่มีอยู่และที่ซ่อนเร้นอยู่ มาบริหารจัดการศึกษาให้บังเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้น
                    สำหรับความหมายของสมรรถนะนั้นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(๒๕๔๗)ว่าสมรรถนะ (Competency) คือคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ ความสามารถและคุณลักษณะอื่นๆที่ทำให้บุคคลสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมงานอื่นๆในองค์กร อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ (๒๕๔๗:๖๑) ให้นิยามของสมรรถนะไว้ว่าคือคุณลักษณะของบุคคลซึ่งได้แก่ ความรู้ ทักษะ ความสามารถและคุณสมบัติต่างๆอันได้แก่ ค่านิยม จริยธรรม บุคลิกภาพ คุณลักษณะทางกายภาพและอื่นๆซึ่งจำเป็นและสอดคล้องกับความเหมาะสมขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสามารถจำแนกได้ว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานได้ต้องมีคุณลักษณะเด่นๆอะไรหรือคุณลักษณะสำคัญๆอะไรบ้างหรืออีกนัยหนึ่งสาเหตุที่ทำงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดคุณลักษณะบางประการคืออะไร เป็นต้น ประจักษ์ ทรัพย์อุดม (๒๕๕๐:๓) ได้ให้ความหมายของคำว่าสมรรถนะไว้ว่า คือความรู้(Knowledge) ทักษะ(Skill) และคุณลักษณะส่วนบุคคล (Personal Characteristic of Attributes) ที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรม (Behavior) ที่จำเป็นและมีผลให้บุคคลนั้นปฎิบัติงานในความรับผิดชอบของตนได้ดีกว่าบุคคลอื่น ซึ่งสมรรถนะของคนเกิดได้จาก ๓ ทางคือ ๑) เป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ๒) เกิดจากประสบการณ์การทำงาน ๓) เกิดจากการฝึกอบรมและพัฒนา  หากจะพิจารณาความหมายของสมรรถนะตามความคิดเห็นของนักวิชาการในประเทศพอประมวลได้ว่า หมายถึง กลุ่มพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกและส่งผลต่อการปฎิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบทำให้การปฎิบัติงานนั้นประสบความสำเร็จตามเกณฑ์มาตรฐานหรือสูงต่ำโดยมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนคือ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะส่วนบุคคล(Attributes)ที่ซ่อนเร้นอยู่ได้แก่ ค่านิยม จริยธรรม บุคลิกภาพ คุณลักษณะทางกายภาพและอื่นๆและกลุ่มพฤติกรรมที่ถูกนำมาใช้จะต้องมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับภาระงานที่ปฎิบัติในตำแหน่งนั้นๆด้วย
                    สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (๒๕๔๗) ระบุว่าสมรรถนะหรือ Competency มีความสำคัญต่อการปฎิบัติงานของบุคลากรและองค์การ สมรรถนะมีประโยชน์ต่อตัวผู้ปฎิบัติงานต่อตัวองค์กรหรือหน่วยงานและต่อการบริหารงานบุคคลโดยรวมดังนี้
๑)      ช่วยให้การคัดสรรบุคคลที่มีลักษณะดีทั้งความรู้ ทักษะ และความสามารถตลอดจนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับงานเพื่อปฎิบัติงานให้สำเร็จตามความต้องการขององค์กรอย่างแท้จริง
๒)    ช่วยให้ผู้ปฎิบัติงานทราบถึงระดับความสามารถของตัวเองว่าอยู่ในระดับใดและจะต้องพัฒนาในเรื่องใดช่วยให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น
๓)     ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาฝึกอบรมแก่พนักงานองค์กร
๔)     ช่วยสนับสนุนให้ตัวชี้วัดหลักของผลงาน(KPIs) บรรลุเป้าหมายเพราะ Competency จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าถ้าต้องการให้บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดหลักแล้วจะต้องใช้ Competency ตัวไหนบ้าง
๕)     ป้องกันไม่ให้ผลงานเกิดจากโชคชะตาเพียงอย่างเดียว เช่น ยอดขายของพนักงานขายเพิ่มสูงกว่าเป้าที่กำหนดทั้งๆที่พนักงานขายคนนั้นไม่ค่อยตั้งใจทำงานมากนักแต่เนื่องจากความต้องการของตลาดสูง จึงทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ต้องลงแรงอะไรมากแต่ถ้ามีการวัดสมรรถนะแล้วจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าพนักงานคนนั้นประสบความสำเร็จเพราะโชคช่วยหรือด้วยความสามารถของเขาเอง    
๖)      ช่วยให้เกิดการหล่อหลอมไปสู่สมรรถนะขององค์กรที่ดีขึ้นเพราะถ้าทุกคนปรับสมรรถนะของตัวเองให้เข้ากับผลงานที่องค์กรต้องการอยู่ตลอดเวลาแล้วในระยะยาวก็จะส่งผลให้เกิดเป็นสมรรถนะเฉพาะขององค์กรนั้นๆเช่น เป็นองค์กรแห่งการคิดสร้างสรรค์เพราะทุกคนในองค์กรมีสมรรถนะในเรื่องการคิดสร้างสรรค์(Creative Thinking)
ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรนั้นแนวคิดเรื่องสมรรถนะนี้มีแนวคิดพื้นฐานมาจากการมุ่งเสริมสร้างความสามารถให้ทรัพยากรบุคคลโดยมีความเชื่อว่าเมื่อพัฒนาคนให้มีความสามารถแล้วคนจะใช้ความสามารถที่มีไปผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นการนำเรื่องสมรรถนะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงควรมุ่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กรเป็นหัวใจสำคัญ ต้องมีการพิจารณาว่าบุคคลในองค์กรมีความสามารถอย่างไรจึงจะทำให้องค์กรเหนือกว่าคู่แข่งและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ดังนั้น ประโยชน์ของ Competency ในด้านการพัฒนาบุคคลจึงสรุปได้ดังนี้
๑)     การเลือกสรรเพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถเหมาะสมกับองค์กรและงาน
๒)    การเลื่อนระดับปรับตำแหน่งให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
๓)    การพัฒนาฝึกอบรมความสามารถของบุคคลให้สอดคล้องกับตำแหน่งงาน
๔)    การเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินผลการปฎิบัติงานของบุคคล
๕)    การบริหารผลงาน (Performance managemence)
๖)     การบริหารคนเก่ง (Talent Management)
๗)    การโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่การงาน
๘)    การพัฒนาความก้าวหน้าสายอาชีพ
เอนกลาภ สุทธินันท์ (๒๕๔๘) กล่าวถึงความสำคัญของสมรรถนะว่า สมรรถนะมีทั้งส่วนที่เหมือนและมีทั้งส่วนที่แตกต่างจากความสามารถทั่วไปคือในส่วนที่เหมือนประกอบไปด้วยความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติและทักษะความชำนาญในการทำงานแต่ในส่วนที่แตกต่างกันคือศักยภาพส่วนบุคคล อุปกรณ์ เครื่องมือที่ต้องใช้ในการปฎิบัติงาน อำนาจการตัดสินใจที่เหมาะสมที่ต้องใช้ในการปฎิบัติงานนั้นๆให้บรรลุผลงานตามเป้าหมาย ดังนั้นเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการกำหนดสมรรถนะในการทำงานก็คือ
๑)     สมรรถนะคือคุณสมบัติที่สำคัญที่ทำให้บุคคลในแต่ละตำแหน่งงานสามารถทำงานให้บรรลุผลลัพธ์ที่องค์กรต้องการ
๒)     เป็นแนวทางการ คัดเลือก พัฒนา โยกย้าย บุคลากร
๓)     เป็นแนวทางการสร้างวัฒนธรรมการทำงาน
๔)     ประเมินผลงานพนักงานอย่างเป็นธรรม
๕)     ป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดจากการทำงาน
๖)      สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฎิบัติงาน
จะเห็นได้ว่าสมรรถนะนั้นมีความสำคัญต่อการปฎิบัติงานของบุคคล การดำเนินงานขององค์กรและมีบทบาทสำคัญต่อการบริหารงานบุคคลขององค์กร โดยที่สมรรถนะมีผลทำให้การดำเนินภารกิจบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ