ปุ๋ยน้ำชีวภาพช่วยชาติลดโลกร้อน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในปัจจุบันเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนทำให้หลายฝ่ายร่วมกันรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนด้วยวิธีการต่างๆที่หลากหลายและมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการปลูกต้นไม้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ส่งผลในระยะยาวและคุ้มค่าต่อการลดภาวะโลกร้อน ดังนั้นในบทความนี้ก็ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมปลูกต้นไม้และปลูกผักเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง และ เพื่อให้ครบองค์ประกอบการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพก็สามารถช่วยได้เช่นกันค่ะ

หากถามว่าการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพมีประโยชน์อย่างไร ประการสำคัญ คือ ช่วยลดปริมาณขยะจากครัวเรือน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการใช้พลังงานในการขนส่งและกำจัดขยะเหล่านั้น และปุ๋ยน้ำยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายอาทิเช่น ใช้เป็นปุ๋ยรดต้นไม้ ใช้ฉีดพ่นเพื่อกำจัดกลิ่นตามที่ชื้นแฉะ ใช้ทำความสะอาดห้องน้ำ ใช้เทลงท่อน้ำและโถส้วมเพื่อลดส้วมเต็มและท่อตัน และใช้บำบัดน้ำเสียได้ด้วยค่ะ....

สำหรับการทำปุ๋ยน้ำนั้นมีมากมายหลายสูตร แต่จะแนะนำต่อไปนี้นำมาจากวารสาร คลีนิก เซนเตอร์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เป็นสูตรที่ง่ายที่สุด เรียกว่า"สูตรที่ไม่มีสูตร" คือสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม การทำนั้นง่ายมากๆ โดยเริ่มจากการเตรียมถังน้ำพลาสติกขนาดใหญ่ที่มีฝาปิดมิดชิด ใส่น้ำลงไปในปริมาณที่คิดว่าเมื่อผสมกับขยะอินทรีย์ในบ้านจะมีมากพอท่วมขยะเหล่านั้น ซึ่งหากเป็นน้ำประปาต้องพักน้ำไว้ ๒ วัน เพื่อให้คลอรีนในน้ำระเหยไปหมดก่อน จากนั้นผสมกากน้ำตาลลงไป (สามารถหาได้ตามร้านขายอุปกรณ์การเกษตร) ในปริมาณต่อน้ำ ๒/๑๐ ส่วน และผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์ ลงไป ๑/๓๐ ส่วน หรือแล้วแต่จำนวนที่มีอยู่ซึ่งสามารถขอรับหัวเชื้อได้ฟรีที่กรมพัฒนาที่ดิน หรือหาซื้อตามร้านขายสินค้าการเกษตรทั่วไป จากนั้นทิ้งไว้ให้เชื้อขยายประมาณ ๒ วัน จึงเริ่มใส่เศษขยะอินทรีย์ พวกเศษอาหาร(ที่ไม่มีน้ำมันและเกลือ) เช่น เศษผัก ผลไม้ ใบไม้ใบหญ้า จากการทำสวน ใส่ลงไปหมักทิ้งไว้ประมาณ ๒ เดือน หรือจนกว่าขยะเหล่านั้นทรุดตัวเปลี่ยนเป็นของเหลวเป็นส่วนใหญ่ ระหว่างหมัก ถังที่หมักต้องวางไว้ในร่มและควรคนกลับขยะในถังบ่อยๆ เพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลาย และหากถังหมักมีกลิ่นเหม็นให้เติมกากน้ำตาลลงไปเพิ่มจนหมดกลิ่นเหม็น

ส่วนการนำมาใช้เป็นปุ๋ยน้ำนั้น ให้ผสมน้ำหมักกับน้ำ ในอัตราส่วน ๑/๑๐๐๐ ส่วน รดต้นไม้ และกากจากถังหมักให้พักไว้ในที่ร่มประมาณ ๑ เดือน สามารถนำมาผสมดินปลูกต้นไม้ได้อีกด้วยค่ะ...

ข้อมูลจาก วารสารคลีนิก เซนเตอร์ อบจ.พิษณุโลก ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ มิ.ย. ๒๕๕๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น