ภัยเงียบที่มาจากความเครียด

ความเครียด.......

เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการต่างๆ ที่นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บมากมาย
ในยุคที่เศรษฐกิจประสบกับภาวะวิกฤตแบบนี้ ความเครียด ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนแตกต่างกันไปตามสภาพหน้าที่การงานและภาวะทางสังคม หลายคนไม่ทราบว่าตนเองมีความเครียดฝังอยู่ลึกๆ ในตัว จนกลายไปสู่ภัยเงียบที่มาถึงตัวเองได้...โดยไม่รู้ตัว

เพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้างร่างกาย จากสถาบันปรับโครงสร้างร่างกาย อริยะ (ARIYA WELLNESS CENTER) กล่าวว่า ความเครียดแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

1. Acute stress (เอคิว สเทรท) เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในทันทีและร่างกายก็จะตอบสนองโดยการแสดงออกมาทันที ซึ่งความเครียดนี้ จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ เกิดผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจไม่นาน แต่ถ้าบ่อยก็จะส่งผลเป็นความเครียดแบบเรื้อรังได้

2. Chronic stress (โครนิค สเทรท) เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับภาวะร่างกายและจิตใจทุกวันๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่รุมเร้าคนในสังคมปัจจุบัน ความเครียดจากปัญหาจากการทำงานที่เป็นภาวะที่ไม่อาจเลี่ยงได้ เช่น ความเบื่อหน่ายจากการทำงาน จากเพื่อนร่วมงาน จากเจ้านายที่ไม่ได้ดังใจ แต่ไม่มีทางเลือกและไม่อาจจะแสดงออกมาได้ ฯลฯ ความเครียดชนิดนี้จะค่อยๆ บั่นทอนสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างช้าๆโดยที่คุณไม่รู้สึกตัว แต่มันจะเป็นการฝังลึกลงในจิตใต้สำนึกแต่คุณก็ยังปฏิเสธว่าคุณไม่ได้เครียด

ทุกครั้งที่เกิดภาวะเครียด โดยเฉพาะความเครียดเรื้อรังนั้นมีผลโดยตรงต่อการทำงานของร่างกาย ทุกระบบจะทำงานหนักมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ กลไกลที่มีผลต่อร่างกายก็คือ เมื่อภายใต้จิตสำนึกของคุณเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งเรียกว่า อะดรีนาลิน (Adrenaline) ผลของฮอร์โมนชนิดนี้กระทบและเป็นผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เมื่อร่างกายมีการหลั่งจะทำให้หลอดเลือดในร่างกายบีบตัว การไหลเวียนของเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆ น้อยลง หัวใจต้องทำงานหนักบีบตัวสูงขึ้น ความดันเพิ่มขึ้น แต่หากมีภาวะไขมันในหลอดเลือดก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นหลอดเลือดอุดตัน ภาวะขาดเลือดในอวัยวะสำคัญ ๆ เช่น หัวใจ สมอง เป็นต้น การทำงานของอวัยวะต่างๆ ด้อยประสิทธิภาพลง เช่นหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามาก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ร่างกายไม่สามารถขับพิษได้ ตับและไตก็ต้องทำงานหนักขึ้น สมรรถภาพทางเพศลดลง ปวดเมื่อยตามร่างกาย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ ระบบภายในร่างกายต้องทำงานสูงเกิดการดึงอินซูลินในระบบเลือดมาใช้ กระตุ้นให้กินมาก เกิดโรคอ้วนได้ ฯลฯ

นอกจากนี้ หนึ่งในอาการ ทางร่างกายที่บ่งบอกได้ง่ายที่สุดคือ อาการของระบบกระดูกกล้ามเนื้อ เมื่อคุณเครียดฮอร์โมนที่เป็นตัวร้ายจะเริ่มคุกคาม ทำให้กล้ามเนื้อของคุณเกร็งตัวมากกว่าปกติ คุณจะรู้สึกเมื่อยล้าในร่างกายอย่างบอกไม่ถูก ไม่กระปรี้กระเปร่า ง่วงนอน หาวบ่อยๆ และกล้ามเนื้อส่วนที่มีปัญหามากที่สุดก็คือ กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอ กล้ามเนื้อเหล่านื้จะเป็นมัดเล็กๆ เป็นริ้วๆ เกาะตามขอบของท้ายทอย เป็นทางผ่านของหลอดเลือดที่เลี้ยงสมอง และเลี้ยงอวัยวะต่างๆบนศีรษะ บริเวณนี้จะเตือนคุณได้มากที่สุด คุณจะปวดคอ ปวดบ่า บางรายร้าวไปที่หลัง รอบสะบัก หายใจแล้วเสียวในช่องอก มากขึ้นเรื่อยขนาดปวดร้าวขึ้นศีรษะ เหมือนเป็นไมเกรน เนื่องจากกล้ามเนื้อหดตัวมากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ตา,ปากอาจกระตุกด้วย

ฉะนั้นจึงควรดูแลให้ถูกทาง คือทำกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นดี กระดูกควรอยู่ในแนวที่ปกติ เส้นเลือด เส้นประสาท ระบบขับสารเสีย ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนได้ดี ทั้งนี้ไม่ใช่แค่การไปคลายที่คออย่างเดียวเพราะกล้ามเนื้อเกี่ยวพันกันอยู่ทุกส่วน ควรปรับสมดุลให้โครงสร้างร่างกาย เพราะถ้าปรับสภาวะให้โครงสร้างสมดุลแล้วระบบเลือด น้ำเหลือง เส้นประสาทจะไหลเวียนได้เต็มที่ มีผลให้ร่างกาย หลั่งฮอร์โมนชนิดดีที่จะทำงานตรงกันข้ามกับ adrenaline(อะดรีนาลีน) นั่นคือ Endorphine(เอนโดรฟีน) ซึ่งเป็นสารสุขให้กับร่างกาย หากต้องการดูแลด้วยตนเองก่อนก็อาจผ่อนคลายด้วยการนวดเบาๆ อบ/ประคบร้อน ไม่ควรทำแรงบริเวณคอเพราะมีเส้นเลือดและกล้ามเนื้อที่สำคัญมาก หากต้องการรักษาก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของระบบกระดูกกล้ามเนื้อจะดีกว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเพราะจะส่งผลเสียมากขึ้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น