ข้อคิดสำหรับผู้จะสร้างบ้าน

๑๐ จุดหมกเม็ดของผู้รับเหมา (ไม่ดี)


คงเป็นเรื่องน่าปวดศรีษะสำหรับเจ้าของบ้านหากเจอผู้รับเหมาที่ไม่ซื่อตรง...ต้นปีหน้าดิฉันคิดจะปลูกบ้านในฝันของตัวเองสักหลังหนึ่งก็ค้นคว้าตำหรับตำราการปลูกบ้านสำหรับมือใหม่มาอ่านยกใหญ่.......ไม่ว่าจะเป็นแปลนบ้านจนถึงการก่อสร้างที่เจ้าของบ้านควรจะรู้ไว้ จากประสบการณ์เจ้าของบ้านส่วนใหญ่จะวางใจผู้รับเหมามากและพอส่งมอบงานก็เกิดเรื่อง จะแก้ไขก็ยากจะทุบอาคารทิ้งรื้อทำใหม่ก็ทำให้สิ้นเปลืองหนักเข้าไปอีก ไหนจะเป็นภาระกับการกู้ธนาคาร ซึ่งให้เงินมาตามวงเงินที่ขออนุมัติแบบไป ดิฉันพูดในฐานะคนชั้นกลางโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีทุนพอจะทุบรื้อทิ้ง ทำใหม่ ก็ไม่กล้าพอจะทำเช่นนั้นจำต้องทนรับมอบงานเช่นนั้นมา อยู่ไม่ถึงปี เดี๋ยวก็ร้าว ตรงโน้น รั่วตรงนี้ น่าเห็นใจจริงๆ ดิฉันเห็นเรื่องนี้เข้าสะดุดใจจึงนำมาฝากสำหรับคนคิดจะสร้างบ้านเป็นของตนเองทั้งในเร็ววันนี้หรือในอนาคตข้างหน้า ค่ะ

จุดที่ ๑ เริ่มจากสัญญาก่อสร้าง

งานเอกสารสัญญาที่ส่อเจตนาทุจริต อาทิเช่น แผนการเบิกเงินในแต่ละงวดมีจำนวนสูงกว่าปริมาณงานที่ทำจริงอยู่มาก พอสบโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะทิ้งงานไปเฉยๆ ดังนั้นเจ้าของบ้านควรตรวจสอบสัดส่วนของเงินแต่ละงวดในเอกสารสัญญาให้ถี่ถ้วนด้วย

จุดที่ ๒ การถมที่ดินด้วยเศษวัสดุ

งานก่อสร้างบนที่ดินว่างเปล่าหรือที่ต่ำกว่าระดับถนนมักเริ่มต้นด้วยการถมดิน ดินที่เหมาะกับงานถมต้องเป็นดินเหนียวที่จะถมในชั้นแรก ตามด้วยหน้าดินเพื่อให้ปลูกต้นไม้หรือหญ้าได้ ในขั้นตอนนี้ผู้รับเหมาที่ชอบซิกแซกมักจะหาเศษวัสดุ อิฐหักแฃละขี้ปูนมาถมเป็นชั้นแรกแทนดินเหนียว ผลที่ตามมาคือการทรุดตัวของผิวดินและสิ่งก่อสร้าง

จุดที่ ๓ ฐานรากไมได้มาตรฐาน

สิ่งสำคัญอันดับแรกๆองการก่อสร้างคือการตอกเสาเข็ม เพราะป็นส่วนฐานรากที่หยั่งลึกลงไปในดิน หากเกิดความผิดพลาดก็ยากที่จะสืบค้นและซ่อมแซม จะส่งผลต่อการทรุดตัวของอาคารในระยะยาวแน่นอน ควรมีคนควบคุมงานและทำบันทึกผลการตอกเสาเข็มด้วยข้อมูลจริง

จุดที่ ๔ ก่อผนังไม่มีทับหลัง

สำหรับงานก่ออิฐที่ดิน นอกจากต้องใช้วัสดุที่ถูกต้องตามแบบรายการวัสดุก่อสร้างแล้ว วิธีการก่อสร้างก็สำคัญไม่แพ้กัน มาตรฐานการก่อผนังอิฐจะต้องมีเสาเข็มและทับหลังในจุดสำคัญ หากผู้รับเหมาไม่ทำให้ถูกต้องจะทำให้การรับแรงของผนังลดน้อยลงจะเกิดรอยร้าวในระยะต่อมาและเกิดการโยกคลอนได้ง่าย

จุดที่ ๕ ใช้เสาเข็มสั้นเกินไป

งานก่อสร้างชนิดต่อเติมอาคาร ผู้รับเหมาซึ่งใช้วิธีการผิดๆเช่น การก่อสร้างส่วนต่อเติมเข้าไปเชื่อมติดกับอาคารเดิมด้วยเสาเข็มสั้น จะเกิดการทรุดตัวที่แตกต่างกันระหว่างอาคารเดิมและส่วนต่อเติมภายหลังโครงสร้างเก่าและโครงสร้างใหม่ก็จะเกิดการแยกตัว

จุดที่ ๖ ลดคุณภาพเหล็ก

ผู้รับเหมาที่เจตนาไม่ดีมักหาช่องทางในการลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพเหล็ก เช่นเหล็กเส้นก็เลือกเหล็กไม่เต็มขนาด เจ้าของบ้านจึงควรให้มืออาชีพเข้ามาควบคุมดูแลการใช้วัสดุอย่างใกล้ชิด

จุดที่ ๗ การปรับความลาดเอียงของจุดรับน้ำต่างๆ

พื้นที่รับน้ำต่างๆ ตั้งแต่พื้นห้องน้ำ ทางเดินภายนอก และอื่นๆ จะต้องทำให้มีความลาดเอียงเพื่อมิให้เกิดน้ำขังเป็นอันตรายทำให้ผู้ใช้ลื่นล้มได้ ผู้รับเหมาที่ดีจะต้องทดสอบด้วยการราดน้ำและปรับแก้ความลาดเอียงในจุดที่น้ำขังตัวให้

จุดที่ ๘ งานเดินท่อต่างๆ

งานประปาเป็นจุดหนึ่งที่ผู้รับเหมาหมกเม็ดไว้ เช่น การใช้ท่อที่ไม่แข็งแรงพอ การต่อท่อแบบไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะได้ข้อต่อที่ไม่แข็งแรงและรั่วซึมในจุดที่มองไม่เห็นและที่แย่กว่านั้นคือไม่ทดสอบแรงดันของท่อน้ำ
ที่บางจุดอาจวางในพื้นที่ไม่ได้ระดับกัน


จุดที่ ๙ งานทาสี

ผู้รับเหมาอาจตบตาด้วยถังสียี่ห้อที่มีคุณภาพมาเป็นภาชนะใส่สี เจ้าของบ้านควรตรวจสอบด้วยการให้ผู้รับเหมาเปิดถังสีใหม่เมื่อเริ่มทาสีเพราะฝาถังจะมีแหวนรัดรอบซึ่งทำปลอมได้ยาก

จุดที่ ๑๐ งานรองพื้น

สำหรับงานสี เช่นสีรองพื้นกันสนิมที่ใช้ทำโครงสร้างเหล็กหลังคา หากกำหนดให้ทาสองรอบ ผู้รับเหมาที่มักง่ายมักทารอบเดียวแล้วส่งงานเลย ควรใช้สีแตกต่างกันในรอบแรกและรอบสอง ตรวจสอบได้ง่ายจากการขูดดูชั้นของสี

๑๐ข้อที่เล่ามาเบื้องต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งในจิปาถะกับการสร้างบ้านสักหนึ่งหลังเพียงเล็กๆน้อยๆก็สามารถทำให้ผู้อยากจะมีบ้านในฝันได้รู้ทันไว้บ้างก็จะดี...ข้อมูลจากหนังสือบ้านและสวนโดยคุณศักดา ประสานไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น