รู้ใจวัยรุ่น

ช่วงนี้เปิดเทอมแล้ว.....โรงเรียนทุกแห่งก็ดูคึกคักและสดใสต้อนรับนักเรียน นักศึกษา.... เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ ข้างบ้านเมื่อวานยังตัวกะเปี๊ยกอยู่เลย...เปิดเทอมครั้งนี้ใส่เครื่องแบบนิสิต นักศึกษาเสียแล้ว ไวจริงๆเลย แล้วเราจะไม่แก่ได้อย่างไรกันเนี่ย...วัยรุ่นเป็นวัยที่สดใสร่าเริง และเป็นช่วงต่อระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ รวมทั้งสังคมใหม่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่รวมทั้งผู้ปกครองของเด็กวัยรุ่นต้องรู้เท่าและรู้ทันในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความแตกต่างกันในการเลี้ยงดูลูกแต่ละยุคแต่ละสมัย...แต่ไม่แตกต่างกันในตัวของผู้ปกครองนั่นก็คือความรักและความปรารถนาดีที่มีให้ต่อบุตรหลาน ...แต่จะทำอย่างไร จึงจะให้พวกเขาได้เข้าใจถึงความหวังดีของผู้ปกครอง..เป็นการบังเอิญหรือย่างไรไม่ทราบไปส่งลูกสาวที่โรงเรียนแล้วมีการพบผู้ปกครอง...ทางโรงเรียนจัดให้มีการเลือกคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง ซึ่งดิฉันก็เป็นผู้หนึ่งที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายโหวตให้เป็นคณะทำงานก็รับมาด้วยความเต็มใจยิ่ง (แบบงงๆ)....ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่หลายท่านเรื่องการเลี้ยงดูลูก(ทำนองนินทาลูก....) ก็รู้ได้เลยว่าทุกคนมีปัญหาคล้ายคลึงและใกล้เคียงกัน จึงนำเสนอบทความนี้เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานกับผู้อ่านทุกท่านน่ะค่ะ หากท่านมีแนวคิดดีๆ ก็บอกกล่าวกันบ้างก็จะดีไม่น้อย


การได้อยู่ในครอบครัวที่มีสัมพันธภาพและบรรยากาศอบอุ่นเป็นความสุขและมีคุณค่าอย่างยิ่ง เป็นที่พึงปรารถนาของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกคน ครอบครัวที่ตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดมึนตึงเข้าหากันเป็นเวลาเนิ่นนาน เกินไปย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของทุกคนในครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง ทุกคนในครอบครัวสามารถช่วยกันได้ด้วยวิธีง่ายๆดังนี้

๑ วาจาดี หรือการแสดงออกซึ่งการห่วงหาอาทรกันและกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย อันเป็นกุญแจดอกสำคัญที่นำไปสู่ความรัก ความผูกพันของคนในครอบครัวอย่างได้ผล

๒ แบ่งเบาภาระหน้าที่ของกันและกัน ด้วยความเสียสละ ถ้อยทีถ้อยอาศัย อดทน

๓ สำคัญที่สุดคือ การให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน ไม่ซ้ำเติมให้เสียน้ำใจ

ความสุขที่มีทั้งความรัก ความอบอุ่น ในครอบครัวเป็นปัจจัยรากฐานที่สำคัญมาก สำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพและการอบรมบ่มนิสัยให้ลูกหลาน เป็นคนดีของสังคมป้องกันภัยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน สิ่งที่พ่อแม่ควรทำมีดังนี้

๑ ไม่ควรขุดคุ้ยเรื่องเก่าๆ มาพูดไม่รู้จบ

๒ ไม่ควรเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกคนอื่น

๓ คอยดูแลลูกให้มีระเบียบวินัยและอดทนกับอาการไม่พอใจของลูกที่ไม่อยากให้ยุ่งกับห้องและของใช้ส่วนตัว

๔ ควรฟังสิ่งที่ลูกเล่า ทำให้ลูกไว้วางใจ กล้าเข้ามาขอคำปรึกษาหารือเรื่องต่างๆได้

๕ พ่อแม่ควรบอกรักให้ได้ยินบ่อยๆ รักทั้งคำพูดและการกระทำไม่เอาแต่บ่นว่า

๖ ควรบอกเหตุผลด้วยคำพูดดีๆ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้คำหยาบ

๗ ควรชมลูกเมื่อกระทำดีหรือสิ่งถูกต้อง ลูกจะได้มีกำลังใจและทำต่อไป

๘ ควรให้ลูกได้ตัดสินใจด้วยตัวเองบ้าง เมื่อผิดพลาดก็ให้เป็นบทเรียนและชี้ถูกผิดให้กับลูกรวมทั้งประพฤติตนที่ดีเป็นแบบอย่างให้กับลูกด้วย

๙ ควรมีเวลาทำกิจกรรมกับลูกบ้าง และไม่วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ลูกชอบ

๑๐ ควรส่งเสริมสิ่งที่ลูกชอบและให้ความสนใจในกิจกรรมดีๆที่ลูกเลือกและต้องการ โดยไม่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ



(ข้อมูลจากหนังสือพ่อแม่รู้ใจ วัยรุ่นรู้ทัน ของสำนักงาน กศน.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น