โรคที่พบบ่อยในผู้บริหาร(หญิง)

ความหมายของวัยทอง
วัยทองในผู้หญิง ก็คือวัยหมดประจำเดือนในอายุประมาณ 45-55 ปี โดยเฉลี่ยอายุ 49 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ตัดรังไข่ก็ สามารถเกิดวัยทองได้ทันทีหลังตัดรังไข่ เมื่อถึงวัยนี้รังไข่จะหยุดทำงาน และไม่มีการตกไข่อีกต่อไปทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่อีก จึงทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
อาการในวัยทอง
เมื่อไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง จะพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนี้
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- มีอาการทางระบบเส้นเลือด เช่น อาการร้อนวูบวาบ โดยเฉพาะส่วนบนของร่างกาย แก้ม คอจะแดง เหนื่อยง่าย ใจสั่น มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน หรือบางคนมีอาการหนาวสั่น อาการนี้จะเป็นนานประมาณ 1-5 นาที
- เต้านมมีขนาดเล็กลง
- ผิวหนังจะบางลง แห้งและเกิดเป็นแผลได้ง่าย มีอาการคันตามผิวหนัง หรือเหมือนมีมดไต่ หรือมดกัดตามผิวหนัง
- เส้นผมจะหยาบแห้งและบางลง หลุดร่วงได้ง่าย ไม่ดกดำเป็นเงางามเหมือนก่อน
- มีอาการทางกล้ามเนื้อและผิวหนัง ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทองจะมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อและกระดูก กระดูกจะเริ่มบางลง เนื่องจากมีการทำลายเซลล์กระดูกเพิ่มขึ้น
- อาการทางระบบสืบพันธุ์ ผนังเยื่อบุช่องคลอดจะบางลง ช่องคลอดขยายตัวไม่ดี ช่องคลอดแห้ง ทำให้มีอาการเจ็บหรือแสบในช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ และมีการติดเชื้อในช่องคลอดบ่อยขึ้น และเกิดภาวะช่องคลอดหย่อน เรียกว่า กระบังลมหย่อน
- อาการทางระบบปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จามหรือหัวเราะ แก้ไขได้โดยขมิบช่องคลอดวันละประมาณ 200 ครั้ง นอกจากนี้เยื่อบุปัสสาวะยังบางลง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และอักเสบได้บ่อย
- มีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียดง่าย หงุดหงิด โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนหลงลืมง่าย เวียนศีรษะ ซึมเศร้า
- มีปัญหาเรื่องการนอน นอนหลับยาก ตื่นเร็ว
- ความรู้สึกทางเพศลดลง บางคนอาจมีความรู้สึกทางเพศสูงขึ้น
- มีการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่าง เอวจะเริ่มหายไป ไขมันเพิ่ม ผิวหนังเหี่ยว
- ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง ทำให้ติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย
เมื่อเข้าสู่วัยทองมักจะมีโรคต่าง ๆ ตามมาดังต่อไปนี้
- เกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว
- เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และสมอง
- มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

เมื่อเข้าสู่วัยทองควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. การรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไขมันน้อย เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงหรือสัตว์ใหญ่ เนย น้ำตาล และอาหารเค็ม
- รับประทานพวกผักใบเขียวและผลไม้ที่มีวิตามินเอ ซี อี สูง ข้าวซ้อมมือ
- ดื่มนมพร่องหรือขาดมันเนยเป็นประจำ เพราะนมมีแคลเซียมธรรมชาติ ดูดซึมและนำไปใช้ในร่างกายได้ดีถ้าดื่มนมไม่ได้ ให้ดื่มนมถั่วเหลือง หรือ น้ำเต้าหู้แทน ปลาตัวเล็ก หรือปลากระป๋องที่รับประทานได้ทั้งกระดูก ทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมมากขึ้น
- ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียม และไม่ควรสูบบุหรี่ สำหรับอาหารเสริม ไม่จำเป็นมากนัก ถ้ารับประทานอาหารได้ครบทุกหมวดหมู่
2. การออกกำลังกาย
เราจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายได้แก่ การวิ่ง การเดินเร็ว อย่างน้อย 20 นาที ต่อวัน ในช่วงที่มีแสงแดดอ่อนๆ ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
- ช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ช่วยให้กระดูกมีความหนาแน่นมากขึ้น ป้องกันโรคกระดูกบาง กระดูกพรุน ในกรณีนี้ ต้องได้รับสารอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอด้วย
- ช่วยลดความเครียดจากการทำงาน และทำให้กระชุ่มกระชวย
- ช่วยให้นอนหลับได้สนิทและง่ายขึ้น
- ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
- ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
3. การพักผ่อน
ควรนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8ชม. ผิวพรรณจะได้ดูสดใส และรู้สึกสดชื่น
4. ในเรื่องการร่วมเพศ
- ควรใช้สารหล่อลื่นขณะร่วมเพศ
- นอกจากนี้ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และให้แพทย์ตรวจ หรือทำ Mammogram (X-Ray เต้านม อย่างน้อยทุก 1-2 ปี / ครั้ง) และตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปี
คณะ
5. ด้านจิตใจ
ทำจิตใจให้สบาย ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผิวหนังได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น ควรมีการสันทนาการอย่างเช่นการร้องเพลง หรือจะเต้นลีลาศก็ได้ค่ะ การฝึกสมาธิก็จะช่วยให้จิตใจสบาย ไม่เครียด ทำให้นอนหลับพักผ่อนได้ในเวลากลางคืน
6. การให้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง
ในวัยหมดประจำเดือน จะขาดฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน การได้รับฮอร์โมนทดแทนควรปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคต่างๆ เช่น มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม เส้นเลือดสมองตีบตัน หรือเคยแตกมาก่อน การแข็งตัวของลิ่มเลือดผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ ปวดศีรษะไมเกรน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื้องอกมดลูก โรคลมชัก นิ่วในถุงน้ำดี สูบบุหรี่จัด ไม่ควรได้รับฮอร์โมนทดแทน หากจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และได้รับการดูแลจากแพทย์

วัยทองเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง เนื่องจากไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงแล้ว แต่ถ้ามีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ลดอาหารพวกแป้ง ไขมัน อาหารหวาน อาหารเค็ม รับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ไขมันต่ำ รับประทานผักใบเขียว และผลไม้ที่มีวิตามินเอ ซี อี สูง และอาหารที่มีแคลเซียมสูง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบาน แจ่มใสอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้สุขภาพกายแข็งแรง ลดอาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ดีที
เดียวค่ะ

ข้อมูลจากบทความบริการวิชาการประจำเดือนพฤศจิกายน 2549 : อาจารย์ อังสนา ศิรประชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น