โรคนอนไม่หลับ

ว่ากันที่จริง ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดานะคะ ที่คนเราจะมีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในชีวิต แต่ในบางคน กลับมีอาการรุนแรงและยาวนาน จนเข้าขั้นเป็น "โรคนอนไม่หลับ" ขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
เมื่อพูดถึงโรคนอนไม่หลับ หลายๆ คนมักจะคิดไปว่าเกี่ยวข้องกับความเครียดหรือการคิดมาก ทำให้ไม่กล้าที่จะปริปากบอกผู้อื่นหรือคนใกล้ชิดว่าตนเองกำลังมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับอยู่ เพราะเกรงจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ ที่จริงแล้ว สาเหตุของโรคนอนไม่หลับนั้นมีมากมายหลายอย่าง ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะสาเหตุจากความเครียดเท่านั้นหรอกนะคะ
อาการนอนไม่หลับเองก็มีหลายรูปแบบ ไล่มาตั้งแต่เข้านอนแล้วหลับยาก หรือตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือตื่นเช้ามืดกว่าปกติแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือหลับๆ ตื่นๆ
โดยทั่วไปแล้วเราพอจะสรุปถึงสาเหตุของโรคนอนไม่หลับได้อย่างง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
1. เป็นความผิดปกติในตัวคนนั้นเอง เช่น เคยนอนไม่หลับอยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาจะกังวลว่าคืนนี้จะหลับหรือไม่หลับ ทำให้นอนไม่หลับ หรือมีอาการนอนไม่หลับขึ้นมาโดยหาสาเหตุไม่พบ หรืออาจสัมพันธ์กับการนอนกรนบางอย่างได้
2. เป็นจากความผิดปกติภายนอก เช่น เกิดเรื่องราวทำให้เครียด สภาพแวดล้อม ในการนอนไม่ดี หรือเกี่ยวข้องกับการติดยาหรือสารบางอย่าง เช่น เหล้า หรือยานอนหลับ เป็นต้น
3. เป็นอาการหนึ่งของโรคทางจิตเวชหรือโรคทางกาย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ที่มีอาการท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต เบื่ออาหาร ความจำไม่ค่อยดี อ่อนเพลียร่วมด้วย โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคสมองเสื่อม เป็นต้น
ส่วนประเภทของโรคนอนไม่หลับนั้น เราแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ค่ะ

ก. การนอนไม่หลับแบบชั่วคราว : ลักษณะนี้หมายถึง นอนไม่หลับติดต่อกันเป็นหลายวัน แต่ไม่ถึงหลายสัปดาห์ คนไม่น้อยอาจจะเคยประสบกับปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความเครียดหรือความกังวลใจต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เช่น ทะเลาะกับเพื่อนหรือแฟน, มีปัญหากับที่ทำงานหรือใกล้ๆ วันสอบหรือวันที่ต้องมีธุระสำคัญ เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วอาการจะดีขึ้นเองภายในไม่กี่วัน หรือในบางรายอาจต้องใช้ยานอนหลับช่วยในระยะสั้นๆ พออาการดีขึ้นก็หยุดยาได้

ข. การนอนไม่หลับแบบระยะต่อเนื่อง : หมายถึง อาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์ๆ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหายหรือดีขึ้น ส่วนใหญ่มักเป็นผลจากความเครียดหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดนั้นยังไม่คลี่คลาย เช่น การ ตกงาน, ปัญหาเศรษฐกิจเงินทอง รวมถึงปัญหาครอบครัว โดยทั่วไปถ้าปัญหาต่างๆ ได้รับการคลี่คลาย การนอนหลับก็มักจะกลับมาเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ว่ามีแนวทางอย่างไรที่จะช่วยปัญหาการนอนหลับของตน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรัง ดังในกลุ่มถัดไป
ค. การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง: คนกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องเกือบทุกคืน ติดต่อกันหลายเดือน หรือแม้กระทั่งเป็นปี สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการก็จะเริ่มซับซ้อนมากขึ้น ไม่ตรงไปตรงมาเพียงแค่ว่าเครียดแล้วนอนไม่หลับ หลายครั้งที่ความเครียดได้เบาบางหรือหายไปหมดแล้ว แต่อาการนอนไม่หลับกลับยังดำเนินอยู่ต่อ บางคนใจจดใจจ่อตลอดเวลาว่าคืนนี้จะหลับหรือไม่หลับ ถ้าไม่หลับแล้วพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จะทำงานได้อย่างแจ่มใสหรือไม่ ทำให้เกิดความรู้สึกกลัวการนอน ไม่กล้าที่จะนอน เลยทำให้แทนที่เวลานอนจะเป็นเวลาที่ให้ความสุข กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความทุกข์และทรมาน
การรักษาอาการนอนไม่หลับอย่างแท้จริงนั้น
1. เราจะต้องค้นหาสาเหตุ และกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับก่อน ถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวช ก็ต้องรักษาโรคเหล่านั้นให้ดีขึ้น อาจใช้ยาช่วยให้นอนหลับในช่วงเริ่มต้น และใช้ยาเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือความเจ็บป่วยทางจิตเวชดีขึ้น อาการนอนไม่หลับก็จะหมดไป และสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น
2. ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะการนอนที่ดี ได้แก่ จัดห้องนอนให้เหมาะแก่การนอนหลับ เช่น ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวหรือเย็นเกินไป ไม่ให้มีเสียงดังอึกทึก ควรมีบรรยากาศที่สงบเงียบ หรืออาจมีเสียงเพลงบรรเลงเบาๆ เป็นต้น
3. ยาช่วยให้นอนหลับ ควรรับประทานเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 2-6 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ติดยา หรือต้องพึ่งยาตลอดไป
อาหารที่ช่วยให้นอนหลับ
1. เครื่องดื่มอุ่นๆ ก่อนนอน ประเภทมอลต์สกัด เช่น โอวัลติน หรือ ไมโล (ไม่ต้องหวาน)
2. เครื่องดื่มชาสมุนไพรต่าง เช่น แคโมไมล์ ไลม์บลอสซัม วาเลอเรียน มะตูม เก๊กฮวย เป็นต้น (ยกเว้นในผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะบ่อย อาจทำให้ปวดปัสสาวะกลางดึก ต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ แล้วนอนต่อไม่หลับได้ง่ายๆ)
3. นมชนิดหวานทำให้หลับได้ง่าย เพราะน้ำตาลจะช่วยทำให้เซลล์สมองดูดซึมกรดอะมิโน ทริปโตฟาน จากกระแสโลหิต ให้เปลี่ยนเป็น เซโรโทนินเพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย (แต่น้ำตาลก็ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ต้องชั่งใจดู)4. อาหารจำพวกแป้ง โดยแป้งมีฤทธิ์คล้ายยาระงับความวิตกกังงล หรือทำให้กลูโคสในกระแสเลือดสูงขึ้น กระตุ้นการหลั่ง Serotonin (แต่ก็เพิ่มน้ำหนักตัวด้วยเหมือนกัน)
5. น้ำผึ้ง ซึ่งเคยใช้เป็นยาระงับประสาทอ่อนๆ มานานแล้ว โดยชงผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยในนมอุ่นๆ หรือ ชาสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น