ความหมายของคำใน "กศน." ตอนที่ ๒

วันนี้เสนอ คำว่า การศึกษาในระบบ หมายถึง การศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน เป็นการจัดการศึกษาที่มีหลักสูตร ครูผ้สอน สื่ออุปกรณ์ รูปแบบ วิธีการสอน สถานที่ศึกษา
ตัวอย่าง เช่น นักเรียนที่เข้าศึกษาในโรงเรียนต่างๆ หรือนักเรียน นักศึกษา ในสถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย

การศึกษาทางเลือก หมายถึง ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการจัดการศึกษาด้วยตนเอง โดยสามารถ เลือกวิธีเรียนที่เหมาะสม และเนื้อหาวิชาเรียนตามความต้องการ เพราะเชื่อว่ามนุษย์มีความแตกต่าง
เป็นการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย การจัดกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาสาระการเรียนรู้ สอดคล้องกับธรรมชาติ และความต้องการของผู้เรียน
เป็นการศึกษาที่จัดได้หลายรูปแบบ ได้แก่ จัดโดยครอบครัว หรือโฮมสคูล จัดโดยโรงเรียน หรือ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้ แก่ผู้เรียน เช่น ศิลปะ ช่างไม้ แกะสลัก แพทย์แผนไทย สมุนไพรต่างๆ เป็นต้น
เป็นการศึกษาที่จัดผ่านสื่อการเรียน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ

การศึกษาต่อเนื่อง หมายถึงการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นของบุคคลต่อเนื่องจากฐานความรู้เดิม ในรูปของกิจกรรมการเรียนรู้หรือหลักสูตรการเรียนรู้ ประเภทมีหน่วยกิต และไม่มีหน่วยกิต ซึ่งมิใช่การศึกษาตามระบบปกติ การศึกษาต่อเนื่อง เป็นได้ทั้งการฝึกอบรมด้านอาชีพ การยกระดับฝีมือในการทำงาน รวมทั้งหลักสูตรการพัฒนาตนเองเพื่อการทำงาน และการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา
เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการ และความจำเป็น ของบุคคลต่อเนื่องไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา
การจัดการศึกษาต่อเนื่องมีหลายรูปแบบ เช่น การจัดการศึกษาหลังการรู้หนังสือ การศึกษาเพื่อการเทียบโอน การศึกษาเพื่อการมีรายได้ การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาเพื่อส่งเสริมความสนใจส่วนบุคคล เป็นต้น
ตัวอย่าง เช่น การเรียนหลักสูตรคอมพิวเตอร์จากสถานที่รับสอนต่างๆ หรือการเรียนขับรถยนต์จากสถานที่จัดสอนการฝึกขับรถยนต์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น